ห้อง7
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  
 

โรงเรียนอัสสัมชัญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรงเรียนอัสสัมชัญ

Logo-AC-big.png
“ LABOR OMNIA VINCIT
วิริยะ อุตสาหะ นำมาซึ่งความสำเร็จ ”
บาทหลวง เอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศสผู้ก่อตั้ง โรงเรียนอัสสัมชัญ

โรงเรียนอัสสัมชัญ (อังกฤษ: Assumption College)(ฝรั่งเศส: Le Collège de l'Assomption) (อักษรย่อ: อสช, AC) เป็นโรงเรียนเอกชนชายล้วนขนาดใหญ่ในเครือ จตุรมิตรร่วมกัน แปรอักษรทุกๆ2ปี โรงเรียนอัสสัมชัญแบ่งเป็นแผนกประถม (ซอยเซนต์หลุยส์ 3 ถนนสาทรใต้) และแผนกมัธยม (ซอยเจริญกรุง 40 (ซอยบูรพา) ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก) ก่อตั้งโดยโดยบาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428) ปัจจุบันโรงเรียนอัสสัมชัญมีอายุ 125 ปี โรงเรียนอัสสัมชัญเป็นโรงเรียนแห่งแรกในเครือคณะภราดาเซนต์คาเบรียล แห่งประเทศไทย

 ประวัติ

 ช่วงเริ่มแรก จาก "โรงเรียนไทย-ฝรั่งเศส วัดสวนท่าน" สู่ "อาซมซานกอเล็ศ"

ผู้ให้กำเนิดโรงเรียนอัสสัมชัญ คือ บาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ เจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ เมื่อ พ.ศ. 2420 โดยริเริ่มที่จะให้การศึกษาแก่เด็กคาทอลิกในชุมชนละแวกวัดสวนท่านด้วยการสอนวิชาความรู้และศาสนาควบคู่กันไป จากหนังสือประวัติกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2435 - พ.ศ. 2507 กล่าวถึงการจัดการศึกษาฝ่ายโรงเรียนราษฎร ว่า "...ในพ.ศ. 2420 มีโรงเรียนไทย-ฝรั่ง ซึ่งต่อมาเรียกว่าโรงเรียนอัสสัมชัญ..." (ประวัติกระทรวง น.99) อันที่จริง โรงเรียนไทย-ฝรั่งที่ว่านี้ ที่ถูกแล้วคือ โรงเรียนไทย-ฝรั่งเศส วัดสวนท่าน ซึ่งตั้งขึ้น โดยบาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ (Pere Emile Colombet) นั่นเอง โรงเรียนไทย-ฝรั่งเศสแห่งนี้ กล่าวได้ว่าคือรากฐานที่พัฒนามาสู่โรงเรียนอัสสัมชัญในอีก 8 ปีต่อมา โดยแรกเริ่มมีนักเรียน 12 คน

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 ได้มีพิธีเปิดเรือนไม้ซึ่งเดิมเป็นบ้านเณรวัดอัสสัมชัญเป็นโรงเรียน ตั้งชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนอาซมซานกอเล็ศ (Le Collège de l'Assomption) ซึ่งมีความหมายว่า สถานที่สำหรับระงับบาปและหาวิชาความรู้ มีนักเรียน 33 คน ในปีแรกคุณพ่อกอลมเบต์ต้องขอร้องผู้ปกครองให้นำบุตรหลานมาเรียนหนังสือ พอถึงสิ้นปีมีนักเรียนรวม 75 คน นักเรียนคนแรก คือ นายยวงบับติส เซียวเม่งเต็ก (อสช 1) ปีต่อมามีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 130 คน การเรียนการสอนในยุคแรก นั้น เปิดสอนภาษาไทยควบคู่กับภาษาฝรั่งเศส และสองปีต่อมาได้เปิดสอนภาษาอังกฤษเพิ่มอีก บาทหลวงกอลมเบต์เห็นว่าจะต้องขยายอาคารเรียน จึงได้ถวายฎีกาไปถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และบอกบุญเรี่ยไรบรรดาพ่อค้า วาณิช ทั้งชาวไทยและต่างประเทศในกรุงเทพฯ กลายมาเป็นโรงเรียนที่เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญก็คือในการสร้างอาคารเรียน หลังใหม่ของโรงเรียนในเวลา 2 ปีหลังจากที่เปิดสอนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชทานและประทานทรัพย์อุดหนุนการนี้จำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในการก่อสร้าง

ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2430 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์ และเหรียญต่างๆที่ฝั่งพร้อมศิลาฤกษ์ของอาคารใหม่ เมื่อพระองค์ทรงจับค้อนเคาะศิลาฤกษ์ได้ตรัสว่า

Cquote1.svg

ให้ที่นี้ถาวรมั่นคงสืบไป

Cquote2.svg

อาคารใหม่ (ตึกเก่า) หลังนี้ได้สร้างสำเร็จบริบูรณ์ใน พ.ศ. 2433

ความแตกต่างระหว่างโรงเรียนเก่า (พ.ศ. 2420 - พ.ศ. 2427) กับ โรงเรียนใหม่ (พ.ศ. 2428 เป็นต้นมา) ของคุณพ่อกอลมเบต์ก็คือ โรงเรียนใหม่แห่งนี้มิได้เป็นโรงเรียนวัดที่มุ่งสอนเฉพาะเด็กคาทอลิกอีกต่อไป หากแต่เป็นโรงเรียนที่เปิดกว้างสำหรับนักเรียนทุกเชื้อชาติ ศาสนา ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านหลักการที่สำคัญยิ่งอันมีผล เปลี่ยนแปลงทางปฏิบัติคือ ทำให้โรงเรียนของคุณพ่อกอลมเบต์มิได้เป็นโรงเรียนที่ให้การศึกษาแก่บุคคลเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป เมื่อพิจารณาช่วงเวลาที่โรงเรียนแห่งนี้เปิดสอนคือ พ.ศ. 2428 จะเห็นว่าเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่รัฐกำลังจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎร ขึ้นตามวัดโดยมีวัตถุประสงค์ให้ราษฎรทั่วไปได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนตามแบบหลวงที่ได้จัดให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์และบุตรหลานข้าราชการมาก่อนแล้ว นโยบายดังกล่าวของรัฐส่งผลให้การจัดการศึกษาของรัฐเปิดกว้างออกสู่คนทุกกลุ่มในสังคม อนึ่งการจัดการ ศึกษาแก่ราษฎรนี้เป็นการใหม่ที่ริเริ่มขึ้นจึงน่าที่จะขาดความพร้อมหลายประการ อาทิ ครูผู้สอน งบประมาณ และสถานที่ โรงเรียนหลวงที่เปิดตามวัดต่างๆจึงทยอยเปิดทีละโรง ทั้งนี้ยังไม่คำนึงถึงความยากลำบากในการชักชวนโน้มน้าวให้คนเห็นประโยชน์ส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน เมื่อโรงเรียนอัสสัมชัญ หรือ อาซมซาน กอเล็ศ เปิดขึ้นจึงเป็นการสอดรับกับนโยบายการจัดการศึกษาของรัฐพอดี ทั้งยังเป็นการช่วยขยายการศึกษาออกสู่ราษฎรอย่างสำคัญอีกแรงหนึ่งดังนั้นจึงสามารถอธิบายได้ว่า เหตุใด โรงเรียน อาซมซาน กอเล็ศ จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ดังนั้น พัฒนาการของโรงเรียนในระยะต่อมา โรงเรียนอัสสัมชัญถือกำเนิดขึ้นจากอุดมการณ์และความเสียสละของบาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ (Pere Emile Colombet) เจ้าอาวาสวัด คาทอลิกเล็กๆ แห่งหนึ่งแถบบางรักผู้มีศรัทธาอันแรงกล้าในอันที่จะพัฒนาคริสตศาสนิกชนในละแวกวัดของท่านโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน คาทอลิกที่ยากจนและกำพร้าให้เจริญด้วยการศึกษาเล่าเรียนเมื่อแรกเริ่มเป็นสมัยที่คนทั่วไปยังมิได้เล็งเห็นผลประโยชน์และความจำเป็นของ การศึกษาเล่าเรียน ภารกิจของท่านจึงมิได้ตกหนักที่การอบรมสั่งสอนเด็กๆเพียงประการเดียวหากยังต้องหว่านล้อมพ่อแม่ผู้ปกครองให้เห็น ความสำคัญของการศึกษาและส่งลูกเข้ามาเรียนกับท่านด้วยเป็นที่น่ายินดีที่อุดมการณ์และความเมตตาของบาทหลวงกอลมเบต์มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่คริสตศาสนิกชนหากยังแผ่กว้างออกสู่บุคคล ทั่วไปในสังคมโดยไม่เลือกชาติ วรรณะหรือศาสนา ในปี พ.ศ. 2428 "โรงเรียนไทย-ฝรั่งเศส วัดสวนท่าน" ของท่านจึงได้ปรับเปลี่ยนตัวเองจากโรงเรียน ของวัดที่เน้นการสอนศาสนาควบคู่กับวิชาความรู้มาเป็น "โรงเรียน อาซมซาน กอเล็ศ" (Le Collège de l'Assomption) ที่เปิดรับนักเรียนทั่วไปไม่ว่าจะชาติหรือศาสนาใด ความพยายามของท่านเริ่มสัมฤทธิผล เมื่อจำนวนนักเรียนของโรงเรียนทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วเห็นได้ชัดเพียงในปีที่สองและยังคงทวี ขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อขึ้นปีที่สิบห้าของโรงเรียน (พ.ศ. 2443) ภารกิจในการดูแลโรงเรียนซึ่งขณะนั้นมีนักเรียนถึง 400 คนแล้วก็เป็นอุปสรรคต่องานด้านศาสนกิจ อันเป็นงานหลักที่แท้จริงของท่าน

 ช่วงแห่งการพัฒนา "อาซมซานกอเล็ศ" มาเป็น "โรงเรียนอัสสัมชัญ"

ในปี พ.ศ. 2443 บาทหลวงกอลมเบต์ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือด้านบุคลากรมาจากคณะภราดาเซนต์คาเบรียลประเทศฝรั่งเศส และในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2444 ภราดา 5 ท่าน โดยการนำของภราดามาร์ติน เดอ ตูรส์ (ภายหลังเป็นอธิการคนที่ 2) ภราดาอาแบล ภราดาออกุสต์ ภราดาคาเบรียล เฟอร์เร็ตตี และภราดา ฮีแลร์ ได้เดินทางถึงกรุงเทพฯ และเข้ารับช่วงงานและสานต่องานด้านการศึกษาจากบาทหลวงกอลมเบต์ และทำให้โรงเรียนอัสสัมชัญกลายเป็นโรงเรียนแห่งแรกในมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย

เนื่องจากชื่อ โรงเรียนอาซมซานกอเล็ศ นั้นอ่านออกเสียงยากและประกอบกับทาง กระทรวงธรรมการ กรมศึกษา มีนโยบายให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็นภาษาไทย ดังนั้น ในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2453 ภราดาฮีแลร์ จึงได้แจ้งไปทางกรมการศึกษาเพื่อขอเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนอาศรมชัญ แต่อธิบดีกรมศึกษา พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ แนะนำว่าควรเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนอัสสัมชัญ ไม่เพียงแต่การออกเสียงยังคล้ายกับชื่อเดิม ความหมายก็คงไว้ตามเดิมของคำว่า "อาศรมชัญ" ด้วย ดังนั้นในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2453 โรงเรียนอาซมซานกอเล็ศ จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น โรงเรียนอัสสัมชัญ นับแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้ คำว่า "อัสสัมชัญ" ก็ออกเสียงคล้ายกับภาษาอังกฤษว่า "Assumption" ซึ่งก็มีความหมายเหมาะกับการตั้งเป็นชื่อโรงเรียน และคำว่า "อัสสัมชัญ" ก็ยังมีคำในภาษาบาลีว่า "อัสสโม" แผลงเป็นไทยว่า "อาศรม" ซึ่งหมายความถึง "กุฏิที่ถือศีลกินพรต" ส่วนคำว่า "ชัญ" ก็ จะแยกตาม ชาติศัพท์เดิม ก็ได้แก่ ธาตุศัพท์ว่า "ช" ซึ่งแปลว่า เกิด และ "ญ" ซึ่งแปลว่าญาณ ความรู้ รวมความได้ว่า "ชัญ" คือที่สำหรับเกิด ญาณความรู้ เมื่อรวมสองศัพท์ มาเป็นศัพท์เดียวกันแล้ว ได้ว่า "อัสสัมชัญ" คือ "ที่สำหรับระงับบาปและหาวิชาความรู้" นั่นเอง

วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จเยี่ยมชมกิจการของโรงเรียน พระองค์ได้ประทาน พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า

Cquote1.svg

...ที่จริงโรงเรียนนี้ข้าได้คิดมานานแล้วว่าอยากจะมาดูสักทีหนึ่ง เพราะว่าในการที่พวกคณะโรมันคาทอลิกอุตสาหะสร้างโรงเรียนนี้ขึ้น ก็นับว่าเป็นกุศลเจตนาบุญกิริยา ซึ่งน่าชมเชยและน่าอนุโมทนาเป็นที่สุด ด้วยเหตุนี้เอง สมเด็จพระบรมชนกนาถของข้าจึงได้ทรง อุดหนุนมาเป็นอันมากและก็การที่โรงเรียนนี้ได้รับความอุดหนุน รับพระมหากรุณาของพระเจ้าอยู่หัว มาทุกรัชกาลนั้นก็ไม่เป็นการเปล่าประโยชน์และผิดคาดหมาย เพราะโรงเรียนนี้ได้ตั้งมั่นคงและได้ทำการสั่งสอนนักเรียนได้ผลดีเป็นอันมากสมกับที่ได้รับพระมหา กรุณาธิคุณใน พระเจ้าแผ่นดินเป็นลำดับมาโรงเรียนนี้ได้เพาะข้าราชการและพลเมืองที่ดีขึ้นเป็นอันมาก นักเรียนเก่าของโรงเรียนนี้ได้รับราชการในตำแหน่งสูงๆอยู่เป็นอันมาก...

Cquote2.svg

วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2486 โรงเรียนได้รับการรับรองวิทยฐานะเทียบเท่า โรงเรียนรัฐบาล

วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จเยี่ยมโรงเรียนอย่างไม่เป็นทางการ โรงเรียนอยู่ในระหว่างปิดภาคปลาย

ในปี พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงคอนเสิร์ต ณ หอประชุมสุวรรณสมโภช

วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเปิดงานวชิรสมโภช ในวโรกาสที่โรงเรียนเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี

วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2507 ประเดิมการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ ระหว่างโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และโรงเรียนอัสสัมชัญ

วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2508 เริ่มการก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรกของแผนกประถมศึกษา บนสนามส่วนหนึ่งของโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ ด้านติดเซนต์หลุยส์ซอย 3 ถนนสาทรใต้

ในปี พ.ศ. 2509 นักเรียนชั้นประถม 1-4 ได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถมม ที่ซอยเซนต์หลุยส์ 3 ถนนสาธรใต้ เพื่อลดจำนวนนักเรียนลงให้พอกับปริมาณห้องเรียนที่มีอยู่ในขณะนั้น

ในปี พ.ศ. 2513 ตึกเก่าอายุ 80 ปี ได้ถูกรื้อถอนเพื่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ชื่อ ตึก ฟ.ฮีแลร์ ทำให้ห้องเรียนไม่เพียงพอสำหรับใช้ในการเรียนการสอน ทำให้นักเรียนต้องผลัดกันเรียนเป็นผลัดเช้าและผลัดบ่ายที่ตึกกอลมเบต์ จึงเป็นที่มาของชื่อรุ่น สองผลัด ของนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2515 และนักเรียนรุ่นสองผลัด (พ.ศ. 2505 - พ.ศ. 2517) ก็เป็นนักเรียนรุ่นสุดท้ายที่ได้เรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ (บางรัก) ตลอดตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 จนจบการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเปิดตึก ฟ.ฮีแลร์

วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2515 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีในรัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินมายังหอประชุมสุวรรณสมโภชของโรงเรียน เพื่อทอดพระเนตรละครเรื่อง "อานุภาพแห่งความเสียสละ" พฤษภาคม 2527 สมเด็จพระสันตปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทย นับเป็นมหามงคลสมัยประจวบรอบ 100 ปี แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ , คณะนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้ร่วมแปรอักษร ที่สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ , สมเด็จพระสันตปาปา จึงได้ทรงพระกรุณาเสกศิลาฤกษ์ตึกอัสสัมชัญ 100 ปี เพื่อความสวัสดีวัฒนาถาวรแห่งอนุสรณ์สถานแห่งนี้ตราบชั่วกาลนาน

วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2528 งานสมโภชอัสสัมชัญ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์พร้อมด้วยพระสวามี ทรงประกอบพิธีเปิดตึกอัสสัมชัญ 100 ปี และ งานสมโภชอัสสัมชัญ 100 ปี

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2529 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงโขนชุด "สมโภชพระราม" ในงานสมโภชอัสสัมชัญ 100 ปี ณ หอประชุมสุวรรณสมโภช ภายในโรงเรียน

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2530 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร การแสดงนาฏดุริยางค์ไทย ในรายการ "โขนอัสสัมชัญเพื่อตึกสยามินทร์" ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2530 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานงานเฉลิมฉลองวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนครบรอบ 100 ปี (15 สิงหาคม 2430)

วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2535 เวลา 15.00 น. สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จทรงประกอบพิธีเททองหล่อ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่โรงเรียนอัสสัมชัญเป็นผู้จัดสร้างเป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบ 80 ปีของกิจการลูกเสือไทย

วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ฯพณฯ พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรีให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์คอมพิวเตอร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ

วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในศุภวาระหิรัญสมโภชอัสสัมชัญแผนกประถม

วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในศุภวาระสมโภช "ครบรอบ 108 ปี โรงเรียนอัสสัมชัญ"

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 คณะครูและนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ไปแสดงศิลปะและวัฒนธรรมไทย เทิดพระเกียรติ ณ Opera Hall กรุงออตตาวา เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ตามคำเชิญจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา

วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2541 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานเปิดค่ายลูกเสือโรงเรียนอัสสัมชัญ ณ ค่ายลูกเสืออัสสัมชัญ อ.สามพราน จังหวัดนครปฐม

วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2541 โรงเรียนอัสสัมชัญเป็นเจ้าภาพเปิดงานประชุมสมัชชาภราดาภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิก ในเครือนักบุญหลุยส์-มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต

วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2542 คณะนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ร่วมแปรอักษรกับ 4 สถาบันจตุรมิตรในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกมส์ ครั้งที่ 7 ณ สนามศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานเปิด อาคารนักบุญหลุยส์-มารีย์

นอกจากนี้ ในทุกๆ 2 ปี ของวันที่ 1 กรกฎาคม คณะนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ร่วมแปรอักษรกับ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ในงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ

ตลอดระยะเวลาที่โรงเรียนได้เปิดทำการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2428 ถึงปัจจุบันเป็นเวลายาวนาน ย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมแล้วว่า นักเรียนของโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้ออกไปสู่โลกภายนอกอย่างมั่นใจ มีความรู้ดี มีความสามารถใช้ความรู้ด้วยสติปัญญาและมีคุณธรรมประจำใจ จนประสบความสำเร็จในชีวิต และหน้าที่การงาน ได้รับใช้ประเทศชาติในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 4 ท่าน คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (อสช. 961) นายกรัฐมนตรีคนแรก, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (อสช. 3567) , นายควง อภัยวงศ์ (อสช. 2990) และ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ (อสช. 3570) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ มากมาย โรงเรียนจึงเชื่อว่าการให้การศึกษาอบรมด้วยเนื้อหาสาระและค่านิยมที่โรงเรียนยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอดนั้น มีความสำคัญเป็นอันมากต่อการพัฒนาบุคคลที่จะเติบโตขึ้นมา มีคุณภาพที่เหมาะสมแก่ยุคสมัย โรงเรียนจึงถือเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ และสำคัญ ที่จะจรรโลงเอกลักษณ์นี้ ในอันที่จะผลิตผู้ผ่านการศึกษาในโรงเรียน ให้มีคุณภาพและมีพื้นฐานที่ดีพอ สำหรับพัฒนาตนเองให้สอดคล้องเหมาะสมแก่ความต้องการของสังคม เพื่อสร้างสังคมให้ดีพร้อม มีสันติ มีความรัก มีความยุติธรรม และมีความจริงตลอดไป

ช่วงเวลานับจากนี้ เราไม่อาจคาดเดาสิ่งที่จะบังเกิดในสังคมไทยในศตวรรษหน้า หลายสิ่งหลายอย่างที่โรงเรียนอัสสัมชัญได้สร้างไว้ในวันนี้ น่าจะได้รับการสืบทอดพัฒนาต่อไปอีกยาวนานเพราะ ณ ที่นี้มีประวัติการกำเนิดซึ่งนับได้ว่าเป็นรากแก้วที่แข็งแรง มีพลังแห่งอุดมการณ์ซึ่งเปรียบ เสมือนแสงแดดและอากาศที่จะหล่อเลี้ยงต้นไม้ใหญ่ให้เติบโตต่อไป มีพลังความเสียสละจากบุคลากรในโรงเรียนและศิษย์เก่าจำนวนมหาศาลเปรียบ เสมือนอาหารและน้ำเพิ่มเติมให้ต้นไม้ออกดอกออกผลอุดมสมบูรณ์ ชื่อเสียง เกียรติคุณ และวัฒนธรรมนานัปการที่โรงเรียนอัสสัมชัญได้สร้างไว้จึงมิควรจะเป็นเพียงความทรงจำหรือเรื่องราวที่ต้องอนุรักษ์ ไว้เล่าต่อกันฟัง หากแต่คงเป็นเพียงบทแรกเริ่มแห่งความภาคภูมิใจของชาวอัสสัมชัญ อีกหนึ่งร้อยปีข้างหน้าคงเป็นเพียงก้าวเดินต่อไปที่ยังมั่นคงและ ทรงคุณค่าขึ้นตามวันเวลา บันทึกเรื่องราวอัสสัมชัญประวัติจึงยังไม่มีบทสุดท้ายหรือบทสรุป เพราะอัสสัมชัญยังคงจะต้องสืบทอดคติธรรม เจตนารมณ์ และอุดมการณ์ของโรงเรียนแห่งนี้ต่อไปอีกนานเท่านานและจะเป็นประจักษ์พยานของประวัติศาสตร์สังคมไทยที่ต้องบันทึกไว้อย่างไม่รู้จบ

 ความหมายของตราโรงเรียนอัสสัมชัญ

เครื่องหมายโรงเรียนอัสสัมชัญมีลักษณะ เป็นตราโล่สีแดงคาดสีขาว กึ่งกลางมีตัวอักษร AC สีน้ำเงินไขว้กันอยู่ และปีคริสต์ศักราช 1885 สีนำเงินอยู่ใต้ตัวอักษร ซึ่งเป็นปีก่อตั้งโรงเรียน นอกจากนี้ สีที่ปรากฏบนโล่ยังเตือนใจให้รำลึกถึงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

 ความหมาย
ตราโล่ เครื่องป้องกันศาสตราวุธทั้งปวง
สีขาว ความบริสุทธิ์
สีแดง ความกล้าหาญในการต่อสู้อุปสรรคต่างๆ
AC ย่อมาจาก ASSUMPTION COLLEGE

 สถานที่สำคัญ

ตึกเก่า (พ.ศ. 2433 - พ.ศ. 2513) สร้างขึ้นเพื่อทดแทนอาคารไม้หลังแรก โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์ ในปี พ.ศ. 2430 ลักษณะอาคารเป็นแบบตะวันตก โดยมีอาคารคู่แฝดอีกหลังตั้งอยู่ไม่ห่างกันมาก (ปัจจุบันเป็นอาคารของสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก และได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร) 80 ปีต่อมา ได้มีอาการรื้อถอนเพื่อสร้าง ตึก ฟ.ฮีแลร์ ซึ่งสามารถรองรับนักเรียนได้มากขึ้น หากแต่สัญลักษณ์ของตึกเก่าที่ยังคงหลงเหลือคือ ศิลาฤกษ์ที่ตั้งอยู่ข้างตึก ฟ.ฮีแลร์ ในปัจจุบัน

หอประชุมสุวรรณสมโภช (พ.ศ. 2494 - พ.ศ. 2544) เป็นหอประชุมแห่งแรกของโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้ก่อสร้างเมื่อโรงเรียนมีอายุครบ 80 ปี ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการแสดงคอลเสิร์ต ภายหลังได้มีการสร้างทางเดินจากอาคารหอประชุมฯ กับอาคารข้างเคียงคือ ตึก ฟ.ฮีแลร์ และตึกกอลมเบต์ โดยทางเชื่อมฝั่งตึกกอลมเบต์เดิม ชั้นล่างเป็นที่ตั้งห้องน้ำเดิมของโรงเรียน และห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ม.ต้น ถัดขึ้นมาเป็นห้องเรียนและห้องพักครูภาษาอังกฤษ ม.ต้น สำหรับทางเชื่อมฝั่ง ตึก ฟ.ฮีแลร์ เดิม ชั้นล่างเป็น ฝ่ายวิชาการ ถัดขึ้นมาเป็นห้องพักครู และห้องปฏิบัติการชีววิทยา สำหรับใต้หอประชุมเดิมเป็นห้องเก็บของ และเป็นห้องเรียนวิชาไฟฟ้าและเขียนแบบ ต่อมามีการพัฒนาเป็นห้องเรียนในระดับมัธยมต้นเพิ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2540 เนื่องจากปริมาณนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นและห้องเรียนในตึกกอลมเบต์ไม่สามารถรองรับจำนวนนักเรียนได้หมด อาคารแห่งนี้ได้ถูกรื้อถอนเมื่อปี พ.ศ. 2544 เพื่อที่จะสร้างอาคารคู่ประกอบ 2 อาคาร คือ อาคารอัสสัมชัญ 2003 และ อาคารนักบุญหลุยส์-มารีย์ และเมื่อปี พ.ศ. 2545 จะเป็นปีที่หอประชุมนี้จะมีอายุครบ 50 ปี

ตึกอัสสัมชัญ 100 ปี (พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2547) ตึกอัสสัมชัญ 100 ปี สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองการก่อตั้งโรงเรียนครบ 100 ปี เป็นอาคารอเนกประสงค์โดยชั้นล่างเป็นโรงอาหาร ชั้นสองเป็นห้องสมุด และชั้นสามเป็นโรงพละศึกษา ใช้สำหรับเล่นกีฬาในร่ม เช่น บาสเก็ตบอล วอลเลย์บอล แฮนด์บอล ฟุตซอล ฯลฯ และ สำหรับซ้อมเชียร์และแปรอักษร อาคารมีทางเดินเชื่อมต่อไปยัง ตึกฟ.ฮีแลร์ และ ตึกกอลมเบต์ โดยทางเชื่อมไปยัง ตึก ฟ.ฮีเลร์ ชั้นบนสุดเป็นลานเอนกประสงค์ พื้นทาด้วยสีเขียว เรียกโดยทั่วไปว่า "ลานเขียว" ภายหลัง ตึกได้ถูกรื้อถอนในปี พ.ศ. 2547 เพื่อสร้างอาคารคู่ประกอบ 2 อาคาร

ตึกกอลมเบต์ (พ.ศ. 2479 - ปัจจุบัน) เป็นตึกที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาตึกที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีอายุเกือบ 100 ปี และได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรเพื่อการอนุรักษ์ไว้ โดยห้ามทุบ ทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หากแต่ให้บูรณะให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ตามความเหมาะสม เดิมใช้เป็นห้องเรียนในระดับมัธยมต้น ปัจจุบันใช้เป็นที่เรียนของนักเรียนในแผนก English Program และเป็นสถานที่ตั้งของงานอภิบาล ตึกนี้เคยถูกระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดนหอนาฬิกาของตึกซึ่งมุมนั้นเคยเป็นห้องพักของภราดา ฟ.ฮีแลร์ อดีตอาจารย์ฝ่ายปกครองและผู้แต่งหนังสือดรุณศึกษา ตึกหลังนี้ถูกออกแบบในสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่คุณพ่อกอลมเบต์ ผู้สถาปนาและผู้ดำรงตำแหน่งอธิการคนแรกของโรงเรียนอัสสัมชัญ

ตึกฟ.ฮีแลร์ (พ.ศ. 2515 - ปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นองค์ประธานในการทำพิธีเปิดอาคาร ตึกฟ.ฮีแลร์ เดิมเป็นตึกเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยในแต่ละชั้นมี 6 ห้อง ชั้นล่างเป็นโถงกว้างตลอดความยาวของตัวอาคาร ใช้สำหรับทำกิจกรรมทั่วไป ชั้นบนสุดเป็นห้องพักของคณะภราดา ภายหลังใช้เป็นห้องเรียนสำหรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 รวมถึงใช้เป็นห้องกิจกรรมต่างๆ เช่น ห้องเอซีแบน ห้องดนตรีไทย ห้องกีต้า ห้องไวโอลีน ศูนย์คอมพิวเตอร์1 และ ร้านถ่ายเอกสาร เป็นต้น

อาคารอัสสัมชัญ 2003 (พ.ศ. 2546 - ปัจจุบัน) ถือได้ว่าเป็นอาคารเรียนที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง ออกแบบตกแต่ในสไตล์โมเดิน ตัวอาคารประกอบด้วยห้องใต้ดินไว้สำหรับเก็บเพลทสำหรับงานแปรอักษร ห้องเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ห้องครุภัณฑ์ ห้องบริหารฝ่ายต่างๆ สำนักอธิการ หอประชุมออดิทอเรี่ยม ห้องประชุมย่อย 4 ห้อง ห้องแยกเรียน ที่พักภราดา และมีทางเดินเชื่อมสู่ อาคารนักบุญหลุยส์-มารีย์

อาคารนักบุญหลุยส์-มารีย์ (พ.ศ. 2550 - ปัจจุบัน) เป็นอาคารที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธานเปิดอาคารนักบุญหลุยส์-มารีย์อาคารประกอบอาคารอัสสัมชัญ 2003 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นอาคารที่พร้อมไปด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ห้องอาหาร หอประชุมใหญ่ ห้องสมุดมาร์ติน เดอ ตูรส์ ห้องถ่ายภาพ ห้องผลิตสื่อ ห้องคาราโอเกะ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และห้อง Robot เป็นต้น พื้นที่ทั้งหมดรองรับ WiFi


ภาพแปรอักษรโลโก้ของโรงเรียนอัสสัมชัญในงานจตุรมิตรครั้งที่24

 เพลงเชียร์

Boom Asump

Veed.......................Boom La!

AS-SU-MP-TI-ON

ASSUMPTION ASSUMPTION La!....

A-S-S-U-M-P-T-I-O-N

ASSUMPTION ASSUMPTION La!....


อิ น ท รี รุ ก

โอ้อินทรีแดง รุกแรงเร็วไว ใครจะสู้เรา

ยามลงสนาม งดงามไม่เบา

อินทรี ของเรา ยอดจริง

ชื่ออินทรีแดง นั่นโด่งดังมาช้านาน

อินทรีอาจหาญ ไม่มีใครจะมาท้าชิง

ยอดจริง อินทรี ของเรา ของเรา

อินทรีของเรายอดจริง


โบกพริ้ว

โบกพริ้ว ธงนั้นปลิวไสว ด้วยน้ำใจเราแดงขาวก้าวไป

ด้วยน้ำใจของนักกีฬา โห่นำชัยให้สนั่นฟ้า แม้ใครไม่กล้าราวี

บุกเข้าไป! มิให้ ใครย่ำยี!

วันนี้ เอซี สู้ตาย


March AC

March March along We sing a song we sing today

March March along We sing a song for AC way

AC will win again just as it was the previous day

We'll sing AC will win-will win.


AC V. DAY

Assumption will go on marching Marching on to fight

Assumption will go on cheering We cheer for our V. Day

Don't you hear that we are shouting Far away over the world

Don't you hear that we are cheering Cheering for V. Day

We will sing a song We will sing a song Sing a song for our V.Day-ay-a

We are cheering for We are cheering for We are cheering for V. Day

We'll remember our V. Day We'll remember this Long day -ay-a

We'll remember our V. Day Spread our name over the world

 แผนการเรียน

โรงเรียนอัสสัมชัญมีแผนการเรียนให้นักเรียนเลือกตามความถนัดและความชอบ ซึ่งแบ่งได้ดังนี้

  • ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
  1. แผนการเรียนเน้นภาษาอังกฤษ จำนวน 3 ห้อง
  2. แผนการเรียนเน้นคณิตศาสตร์ จำนวน 2 ห้อง
  3. แผนการเรียนเน้นวิทยาศาสตร์ จำนวน 2 ห้อง
  4. แผนการเรียนเน้นคอมพิวเตอร์ จำนวน 1 ห้อง
  5. แผนการเรียนเน้นวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และ แผนการเรียนเน้นภาษาจีน จำนวน 2 ห้อง
  • ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
  1. แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ จำนวน 5 - 6 ห้อง
  2. แผนการเรียนศิลป์คำนวณ จำนวน 3 - 4 ห้อง
  3. แผนการเรียนศิลป์ออกแบบและศิลป์กีฬา จำนวน 1 ห้อง
  4. แผนการเรียนศิลป์ภาษา ภาษาจีน-ภาษาอังกฤษฯ หรือ ภาษาฝรั่งเศส-ภาษาอังกฤษฯ จำนวน 1 ห้อง

และ English Program

 ทำเนียบอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร

ตารางแสดงทำเนียบอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ จังหวัดกรุงเทพมหานคร

อันดับรายนามวาระดำรงตำแหน่ง (พ.ศ.)
1 บาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ 2428 - 2445
2 ภารดามาร์ติน เดอตูรส์ 2445 - 2463
3 ภารดาไมเกิล 2472 - 2475
2481 - 2484
4 ภราดาเฟรเดอริค ยัง 2475 - 2481
5 ภราดามงฟอร์ต 2484 - 2490
6 ภราดาฮูเบอร์ด คูแซง 2490 - 2495
2497 - 2498
7 ภราดาอูร์แบง กลอริโอ 2495 - 2497
8 ภราดาโดนาเชียง 2498 - 2503
9 ภราดายอห์น แมรี่ 2503 - 2504
10 ภราดาโรเบิร์ต ริชาร์ด 2504 - 2508
11 ภราดาวิริยะ ฉันทะวโรดม 2508 - 2516
2529 - 2535
12 ภราดาวิจารณ์ ทรงเสี่ยงชัย 2516 - 2522
13 ภราดาชุมพล ดีสุดจิต 2522 - 2529
14 ภราดาเลอชัย ลวสุต 2535 - 2541
15 ภราดาสุรสิทธิ์ สุขชัย 2541 - 2547
16 ภราดาอานันท์ ปรีชาวุฒิ 2547 - ปัจจุบัน

  อ้างอิง

  • สมาคมอัสสัมชัญ, อุโฆษสาร 2000, กรุงเทพฯ : อุดมศึกษา, 2546.
  • อัสสัมชัญ 111 ปี, สาส์นบราเดอร์หลุยส์ ชาแนล ถึงอัสสัมชนิกในโอกาส "งานคืนสู่เหย้า เอ.ซี.111 ปี"
  • คู่มือนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ, 2539.
  • แผ่นพับงานฉลองอัสสัมชัญ 100 ปี, 2528.
  • อัสสัมชัญสาส์น.
  • เอกสารแนะนำโครงการอัสสัมชัญ แคมปัส พระราม 2
Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 6,254 Today: 4 PageView/Month: 28

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...